Image Alt

Global Technology Integrated

สร้างความมั่นใจ SRAN นวัตกรรมป้องกันอาชญากรรมไฮเทค

วันที่ 3 มิถุนายน 2551 บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเทคโนโลยี SRAN (Security Revolution Analysis Network) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทย (บริษัท สราญ เทคโนโลยี จำกัด) นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ SRAN Security Center เพื่อใช้วิเคราะห์และป้องกันภัยคุกคามเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเก็บบันทึกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Traffic Data) ที่เกิดขึ้นบนระบบเครือข่าย และจัดเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับ ISO 27001/2005 และพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ คุณนรัตถ์ สาระมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด และคุณนนทวัตต์ สาระมาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สราญ เทคโนโลยี จำกัด โดยได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผกก.ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคุณวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที เข้าร่วมเสวนาด้วยในครั้งนี้ ซึ่งได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสถานการณ์ของภัยคุกคามออนไลน์ ที่นับวันจะมีความรุนแรง และมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวกับ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 สิงหาคม 2551 ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ SRAN ได้รับการยอมรับจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีส่วนช่วยในการสืบสวนสอบหาผู้กระทำความผิด เนื่องจากข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยผลิตภัณฑ์ SRAN สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ตามหลัก Chain of Events คือ ระบุได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เวลาใด และอย่างไร รายงานผลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ยังให้ความเห็นว่า ทฤษฎี “3 IN 3 OUT” หรือหลักการเข้าและออกของข้อมูลจราจร ที่คุณนนทวรรธนะ สาระมานได้คิดค้นขึ้น เป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ยิ่งต่อการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของตนเอง และเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว นอกจากจะช่วยให้องค์กรปลอดภัยขึ้น ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เยาวชน และความมั่นคงของชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยและสังคมไซเบอร์น่าอยู่มากขึ้น